วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ประวัติหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ผู้ก่อตั้งคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ที่มาภาพ : http://teacher-kanokrat.blogspot.com/2011/07/blog-post.html
ชีวประวัติ 
                ม.ล.ปิ่น มาลากุล เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2446 สืบเชื้อสายมาจากต้นราชสกุล มาลากุล ณ อยุธยา  คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์  พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอันประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี บิดามารดาของม.ล.ปิ่นคือเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม (สกุลเดิม วสันตสิงห์)          
                ท่านได้สมรสกับท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา (สกุลเดิม ไกรฤกษ์) ไม่มีบุตรธิดา

ประวัติการศึกษา
          ปี พ.ศ. 2450 เมื่อหม่อมหลวงปิ่นมีอายุได้ 4 ขวบ ท่านได้เริ่มเรียนหนังสือที่บ้านกับครูแฉล้ม (แฉล้ม คุปตารักษ์) ต่อมาได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ณ สมัยนั้นเป็นโรงเรียนวัดราชบูรณะ) และต่อมาในปี พ.ศ. 2457 หม่อมหลวงปิ่นก็เข้าศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

         ในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนักเรียนมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง ไม่ได้เรียนที่โรงเรียนอีก แต่ปลายปีนั้นก็ยังคงมาสอบไล่และสามารถสอบผ่านชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งทำให้เลื่อนไปเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ก็ไม่ได้มาเรียนหรือมาสอบอีกเลย
            พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้รับทุนของกระทรวงธรรมการ จึงออกไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ โดยไปเข้าเรียนที่ The School of Oriental and African Studies, University of London (SOAS) หรือวิทยาลัยบูรพศึกษาและอาฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน และได้รับประกาศนียบัตรวิชาภาษาและวรรณคดีบาลีและสันสกฤต แล้วได้ย้ายไปศึกษาต่อที่คณะบูรพคดีศึกษา (Faculty of Oriental Studies) สถาบันตะวันออกของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประสบความสำเร็จโดยได้ปริญญาตรี (B.A.) เกียรตินิยมสาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) วิชาเอกภาษาบาลีและสันสกฤต ในปี พ.ศ. 2471
            ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทจนสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (M.A.) ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ท่านสังกัดวิทยาลัยบเร๊สโนส (Brasenose College) และในปี พ.ศ. 2498 ท่านก็ได้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (รุ่นแรก)

รับราชการ

        ในปีพ.ศ. 2455 ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ต่อมาได้เป็นอาจารย์ประจำกองแบบเรียนกรมวิชาการ อาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปีพ.ศ. 2474 ในปีพ.ศ. 2475 เป็นอาจารย์โท อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังได้เป็นหัวหน้าแผนกฝึกหัดครูมัธยม คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรักษาการในตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนมัธยมหอวังในปีพ.ศ. 2477 อีกด้วย

         หม่อมหลวงปิ่นได้เป็นอาจารย์เอก อันดับ 1 และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2480 5 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2485 ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมสามัญศึกษาอีกตำแหน่งหนึ่งอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2487 ท่านได้พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและเป็นที่ปรึกษาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและทำงานในหน้าที่เลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ในปี พ.ศ. 2489 ท่านดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และในปี พ.ศ. 2495 - พ.ศ. 2496 ท่านได้เป็นรักษาการอธิบดีกรมวิชาการ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2497 ได้เป็นรักษาการอธิบดีกรมการฝึกหัดครู รักษาการอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา ศาสตราจารย์พิเศษในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

           หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 ถึง 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2512 เป็นเวลายาวนานถึง 12 ปีเศษ

ผลงานด้านการศึกษา

1. ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท โรงเรียนมัธยมสหศึกษา โรงเรียนแรกในประเทศไทย
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาขึ้น เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 โดยนักเรียนเริ่มเรียนในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2481 โดยมี ฯพณฯ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียน ในปีแรกๆ โรงเรียนได้เจริญขึ้นเป็นลำดับ เช่น ทางด้านวิชาการมีผลเป็นที่น่าพอใจ การสร้างตึก 2 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2482 และต่อมาได้สร้างตึก 3 ไปจนจดถนนอังรีดูนังต์ ในเวลานี้นอกจากผลงานทางด้านวิชาการจะเป็นที่น่าพอใจแล้ว นักเรียนยังได้แสดงความสามารถในการเล่นกีฬาต่างๆ ที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้นำเข้ามาในโรงเรียน เช่น ฮอกกี้ รักบี้ และฟุตบอล เข้าเกณฑ์ที่กล่าวได้ว่า "เรียนก็เด่น เล่นก็ดี กีฬาเลิศ"

2. ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนประถมสาธิต วิทยาลัยวิชาการศึกษาเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีในระดับประถมศึกษา
3. ริเริ่มตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ถนนประสานมิตร ต่อมาเป็นวิทยาลัยวิชาการ ศึกษาประสานมิตร  และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในปัจจุบัน

4. ริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์(ทับแก้ว )และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำให้ประชากรในชนบทได้มีโอกาสเรียนถึงระดับอุดมศึกษา
สถาปนามหาวิทยาลัยศิลปากรวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิการบดีในขณะนั้น มีนโยบายที่จะเปิดคณะวิชาและสาขาวิชาที่ หลากหลายขึ้น แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่ในวังท่าพระคับแคบมาก ไม่สามารถจะขยายพื้นที่ออกไปได้ จึงได้ขยายเขตการศึกษาไปยังพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม โดยจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๑ คณะศึกษาศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๓ และคณะวิทยาศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ตามลำดับ หลังจากนั้น จัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๒๙ คณะวิศวกรรมมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ สาเหตุที่เลือกพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ได้ให้เหตุผลไว้ดังนี้
ประการแรก พระราชวังสนามจันทร์เคยเป็นพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้สนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งในทาง โบราณคดีและศิลปะทั้งปวง ทรงเป็นนักโบราณคดีและศิลปินชั้นเยี่ยมโดยเฉพาะ ทาง วรรณศิลป์ ทรงสนับสนุนนาฏศิลป์ตลอดรัชสมัยของพระองค์
ประการที่สอง บริเวณพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ตั้งของเทวาลัยคเณศ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น นอกจากนี้ พระคเณศยังเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ และเป็นตราของทางมหาวิทยาลัยศิลปากร อยู่แล้ว
ประการสุดท้าย ที่จังหวัดนครปฐมมีพระปฐมเจดีย์ประดิษฐานอยู่ นับได้ว่าเป็น ศูนย์กลางของโบราณคดีและศิลปะที่สำคัญในประเทศไทย ดังนั้นบริเวณพระราชวัง สนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม จึงเหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร
จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ.๒๕๐๑ ขณะที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีโครงการเกี่ยวกับการศึกษาโครงการหนึ่งชื่อว่า "โครงการพัฒนาการศึกษาในส่วนภูมิภาค" คณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบ ได้มีการประชุมที่จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.๒๕๐๒ ได้มติว่าจะมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะประชากรส่วนใหญ่ก็สนับสนุน สภาพแวดล้อมก็เหมาะสม และได้เสนอเรื่องราวให้คณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบและอนุมัติ ในที่สุด พ.ศ.๒๕๐๓ ก็ได้ดำเนินการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เริ่มเปิดสอนในปี พ.ศ.๒๕๐๗ และเปิดอย่างเป้นทางการวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๐๘ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ 
พระบรมราชินีนาท ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีครั้งนี้

5 ริเริ่มจัดตั้งห้องสมุดเสียงขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อรวบรวมวรรณกรรมร้อยแก้วด้านพระราชดำรัส พระบรมราโชวาทและปาฐกถาของผู้มีชื่อเสียงด้านต่าง ๆ 
6. พัฒนาการศึกษาหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนาการศึกษาส่วนภูมิภาค โครงการพัฒนาการศึกษา และโครงการฝึกหัดครูชนบท ก่อให้เกิดความเสมอภาคทางการศึกษา 

7. ขยายงานของกรม กองต่าง ๆ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านการศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นำเทคโนโลยีด้านการศึกษาเข้ามาใช้ เช่น จัดตั้งวิทยุการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น

8. ก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์เพื่อเป็นที่ระลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้เป็นคลังสมบัติทางปัญญาในการค้นคว้ารวบรวมและเผยแพร่พระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่าน
ม.ล.ปิ่น มาลากุล ผู้ริเริ่ม เป็นกำลังสำคัญในการก่อกำเนิด หอวชิราวุธานุสรณ์ผู้เสียสละกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และกำลังทรัพย์ บริจาค 1 ล้าน 6 แสนบาท เพื่อเชิดชูเกียรติภูมิของชาติ ให้เป็นศูนย์สรรพวิทยาการ และศิลปวัฒนธรรมในวงการศึกษายิ่งใหญ่
หอวชิราวุธานุสรณ์เป็นอาคารทรงไทยขนาดใหญ่ ณ บริเวณหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี เพื่อเฉลิมฉลองวันพระบรมราชสมภพครบ 8 รอบ และ 100 พรรษา สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า องค์การยูเนสโก ยกย่องสดุดีทรงเป็นบุคคลสำคัญระดับโลก ณ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2524
ครั้งหนึ่งในชีวิต เกิดเหตุจลาจลเพื่อแย่งอำนาจรัฐบาล วันที่ 9 กันยายน 2528 หลังการประชุม ณ หอวชิราวุธานุสรณ์ ม.ล.ปิ่นยังไม่กลับบ้าน มีผู้ถามท่านว่า...เหตุใดท่านจึงไม่กลับ เมื่อเหตุการณ์ไม่สงบท่านตอบว่า  หอวชิราวุธานุสรณ์...คือบ้านฉัน

9. จัดสร้างค่ายหลวงบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมความรู้และเป็นค่ายพักแรมหรือจัดกิจกรรมของเยาวชน

ที่มา : http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/26306


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น