วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ประวัติศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

ที่มาภาพ : http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/26306

ประวัติศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

          ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี มีนามเดิมว่า คอร์ราโดเฟโรจี ( Professor Corrado Feroci ) เป็นชาวนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ณ. ตำบล San Giovanni บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อนาง Santina Feroci มีอาชีพค้าขาย 
          เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม เมื่อปีพ.ศ.2441ภายหลังจบหลักสูตร 5 ปีจึงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี จากนั้นจึงเข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะ แห่งนครฟลอเรนซ์ จบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปีในขณะที่มีอายุ 23 ปีและได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียนซึ่งต่อมาได้สอบคัดเลือกรับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์วิจารณ์ศิลป์และปรัชญาโดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรม
          ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระประสงค์จะหาช่างปั้นมาช่วยปฏิบัติราชการเพื่อฝึกฝนให้คนไทยสามารถปั้นรูปได้อย่างแบบตะวันตกและสามารถมีความรู้ถึงเทคนิคต่างๆในงานมาปฏิบัติราชการกับรัฐบาลไทย ทางรัฐบาลอิตาลีจึงเสนอนาย คอร์ราโด เฟโรจี มาพร้อมทั้งคุณวุฒิและผลงาน ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยินดีรับเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งช่างปั้น กรมศิลปากรกระทรวงวัง
      
          เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 เมื่ออายุย่างเข้า32 ปีโดยได้รับเงินเดือนๆละ 800 บาทค่าเช่าบ้าน 80 บาท และต่อมาในปี พ.ศ.2469 ศาสตราจารย์ศิลป์พีระศรีได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ช่างปั้นหล่อแผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภาได้รับ เงินเดือนๆละ 900 บาทต่อมาได้ย้ายมาเป็นช่างปั้น สังกัดอยู่ในกองประณีตศิลปกรรมกรม ศิลปากรกระทรวงธรรมการ
          ท่านได้วางหลักสูตรอบรมกว้างๆและทำการสอนให้แก่ผู้ที่สนใจในวิชาประติมากรรมทั้งภาค ทฤษฎีและภาคปฏิบัติผู้ได้รับการอบรมรุ่นแรกๆส่วนมากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเพาะ- ช่างได้แก่ สาย ประติมาปกร สุข อยู่มั่น ชิ้น ชื่อประสิทธิ์ สวัสดิ์ ชื่นมะนา และ แช่ม แดงชมพู
      
          ผู้ที่มาอบรมฝึกงานกับศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมทั้งสิ้นเพราะทางราชการมีนโยบายส่งเสริมช่างปั้นช่างหล่อให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน
      
          ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้มาเป็นผู้ช่วยช่างและบางคนก็เข้ารับราชการช่วยแบ่งเบาภาระงาน และช่วยทำให้กิจการปั้นหล่อของกรมศิลปากรเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อทางราชการเห็นความสำคัญของการศึกษาศิลปะตามแนวในปัจจุบันจึงได้ขอให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พระศรี เป็นผู้วางหลักสูตรการศึกษาให้มีมาตรฐานเดียวกันกับ โรงเรียนศิลปะในยุโรป
          ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงเริ่มวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมขึ้นในระยะเริ่มแรกชื่อ " โรงเรียนประณีตศิลปกรรม " ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" และในปีพ.ศ.2485กรมศิลปากรได้แยกจากกระทรวง ศึกษาธิการไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในขณะนั้นโดย ฯพณฯจอมพลป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ
      
       จึงได้มีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นคือพระยาอนุมานราชธนดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร และ ตราพระราชบัญญัติยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร มีคณะจิตรกรรมประติมากรรม เป็นคณะวิชาเดียวของมหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดสอนเพียง 2 สาขาวิชาคือ สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรมและมี ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดี คนแรก ดังนั้นการเรียนการสอนศิลปะในสาขาวิชาศิลปะจึงเริ่มดำเนินการในระดับปริญญาขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
      
          ในปีพ.ศ.2491 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้นำศิลปะไทยไปแสดง ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปีนี้ท่านได้เดินทางกลับไปประเทศอิตาลีและเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้งในต้นปีพ.ศ.2492โดยกลับมาใช้ชีวิตเป็นครูสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาทางด้านศิลปะที่คณะจิตรกรรม และประติมากรรม
      
          ในปีพ.ศ.2496 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้รับหน้าที่อันมีเกียรติ คือ เป็น ประธานกรรมการสมาคมศิลปะแห่งชาติ ซึ่งขึ้นอยู่กับ สมาคมศิลปะนานาชาติ (International Association of Art) ในปีพ.ศ.2497 ได้เป็นผู้แทนศิลปินไทยไปร่วมประชุมศิลปินระหว่างชาติ ครั้งแรกที่ประเทศออสเตรียท่านได้นำเอกสารผลงานศิลปะและบทความชื่อศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย(Contemporary Art inThailand) ไปเผยแพร่ในการประชุมด้วยทำให้นานาชาติรู้จักประเทศไทยดีขึ้นและนับเป็นคนแรกที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปะระหว่างศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศขึ้น
          ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 รวมสิริอายุได้ 70 ปี
ที่มา : www.manager.co.th

1 ความคิดเห็น: